สภาเทศบาลตำบลหนองไผ ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 12 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมาย ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 มีประธานสภาเทศบาล 1 คน และรองประธาน 1 คน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากสมาชิก สภาเทศบาลตามมติของสภาเทศบาล มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1. อำนาจเกี่ยวกับการนิติบัญญัติ
2. อำนาจในการควบคุมฝ่ายบริหาร (นายกเทศมนตรี)
2.1 ตั้งกระทู้ถามกรณีสมาชิก (สท.) สงสัยการบริหารงานของนายกเทศมนตรีที่ส่อไปทางจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน
2.2 เปิดอภิปรายต่อนายกเทศมนตรีซึ่งถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติงานไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่และความประพฤติเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง
3. อำนาจการอนุมัติงบประมาณประจำปีก่อนที่นายกเทศมนตรีจะดำเนินการใดในแต่ละปี ต้องนำงบฯ เข้าขออนุมัติต่อสภาเทศบาล เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเพราะสภาเทศบาลโดยสมาชิกทุกคน เป็นตัวแทนของประชาชนในเขตเทศบาล สามารถควบคุมการจัดหารายได้ การใช้เงิน (ภาษี) ของประชาชน มิให้นายกเทศมนตรี (ฝ่ายบริหาร) นำไปใช้จ่ายในทางไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนหรือใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ทั้งนี้ สภาเทศบาล มีอำนาจปรับ - ลด งบประมาณฯ ได้ตามที่กฎหมายกำหนด หากโครงการงบประมาณฯ ตั้งงบสูงอย่างผิดปกติ
หน้าที่หลักของสมาชิกสภาเทศบาล
1) รับทราบนโยบายของผู้บริหารเทศบาล จากการรับฟังการแถลงนโยบาย แม้ว่าสมาชิกสภาเทศบาลจะไม่สามารถลงมติไว้วางใจได้ก็ตาม แต่สมาชิกสภาฯ ก็สามารถซักถามและอภิปรายนโยบายที่แถลงนั้นได้ ซึ่งจะเกิดผลขึ้นได้ในหลายประการ ได้แก่
ก. สมาชิกสภาเทศบาลในฐานะตัวแทนของเทศบาลพึงรับทราบว่านายกเทศมนตรีมีวิธีการหรือแนวทางในการบริหารงานเทศบาลอย่างไรบ้าง ซึ่งก็จะเป็นการผูกมัดให้นายกเทศมนตรีต้องบริหารงานเป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อสภาเทศบาล
ข. สมาชิกสภาเทศบาลสามารถซักถามและอภิปรายนโยบายของนายกเทศมนตรีในแง่มุมต่างๆ อย่างกว้างขวางทำให้การทำงานมีความโปร่งใสมากขึ้น ตลอดจนการทำงานจะมีความรอบคอบละเอียดถี่ถ้วนยิ่งขึ้น
ค. สมาชิกสภาเทศบาลสามารถตรวจสอบการทำงานของนายกเทศมนตรีว่าได้ปฏิบัติตามนโยบายหรือไม่ อันอาจจะใช้เป็นช่องทางในการถอดถอนออกจากตำแหน่งได้
ง. นายกเทศมนตรีได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อนำมาปรับใช้ในการบริหารงานเทศบาล
2) การตรวจตราเทศบัญญัติต่างๆ (เทศบัญญัติในกิจการของสภาหรือเทศบัญญัติงบประมาณ) ที่จะกล่าวต่อไป
3) การควบคุมการบริหารงานของฝ่ายบริหาร โดยวิธีการต่อไปนี้ ก. การเสนอญัตติ ข. การตั้งกระทู้ถามผู้บริหารเทศบาล (นายกเทศมนตรี,รองนายกเทศมนตรี) ค. การอภิปราย ง. การแปรญัตติ จ. การแต่งตั้งคณะกรรมการ (กรรมการสามัญประจำสภาและคณะกรรมการวิสามัญ)
4) การให้ความเห็นชอบ ในเรื่องต่อไปนี้
ก. การให้ความเห็นชอบในเรื่องของญัตติที่เสนอในที่ประชุมสภาเทศบาลเพื่อพิจารณา
ข. การให้ความเห็นชอบในเทศบัญญัติงบประมาณของเทศบาล (เทศบัญญัติงบประมาณประจำปีและเทศบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม)
5) มีมติให้สมาชิกสภาเทศบาลพ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 19 (7) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12) โดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยแก่เทศบาลหรือกระทำการอันเสื่อมเสียประโยชน์ของสภาเทศบาล โดยมีสมาชิกสภาเทศบาลจำนวนไม่น้อยกว่า 1/3 ของจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอให้สภาเทศบาลพิจารณา และมติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3/4 ของจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ทั้งนี้ ให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงนับแต่วันที่สภาเทศบาลมีมติ
6) มีมติให้ประธานสภาเทศบาล รองประธานสภาเทศบาลพ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 20 ทวิ (4) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2546 ที่บัญญัติ สภาเทศบาลมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง โดยเห็นว่า มีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่งหรือสภาเทศบาลปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติการ หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ โดยมีสมาชิกสภาเทศบาลจำนวนไม่น้อยกว่า 1/3 ของจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอให้สภาเทศบาลพิจารณา และมติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3/4 ของจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ทั้งนี้ ให้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่สภาเทศบาลมีมติ
7) หน้าที่อื่นๆ อีกหลายบทบาทเช่น การแก้ไขปัญหาข้อเดือดร้อนของประชาชนด้านต่างๆ การดูแลทุกข์ของประชาชนทั่วๆ ไป การเป็นผู้นำให้ท้องถิ่น การรักษาผลประโยชน์ให้ท้องถิ่น การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเป็นที่พึ่งและศูนย์รวมจิตใจของท้องถิ่น เป็นต้น